ประวัติของหมู่บ้านวัดใหม่


บ้านวัดใหม่ ตั้งอยู่ในตำบลฉลอง อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ในสมัยหลวงพ่อแช่มเป็นเจ้าอาวาสวัดฉลอง ได้มีกลุ่มอั้งยี่ ซึ่งมาทำเหมืองแร่ในจังหวัดภูเก็ตได้ยกกำลังมาปล้นชาวบ้านและวัดฉลอง ชาวบ้านได้เข้าไปขอให้หลวงพ่อแช่มช่วยเหลือ หลวงพ่อแช่มได้แจกผ้าประเจียดโพกศรีษะรวมตัวต่อต้านโจรอั้งยี่ ชาวบ้านหมู่ที่ 7 ได้มีชายฉกรรจ์หลายคน รวมตัวต่อต้าน จนสามารถเอาชนะโจรกลุ่มนี้ได้ หลวงพ่อแช่มกล่าวว่า พวกคนวัดใหม่ ( หมู่ที่ 7) นี้เก่งสามารถเอาชนะโจรอั้งยี่ได้ ตั้งแต่นั้นมาชาวบ้านเรียกหมู่บ้านหมู่ที่ 7 ว่า “ บ้านวัดใหม่ ”
หลวงพ่อแช่ม
                                            

พระครูวิสุทธิวงศาจารย์ญาณมุนี
(หลวงพ่อแช่ม สังฆปาโมกข์)

ประวัติย่อของหลวงพ่อแช่ม
"หลวงพ่อแช่ม" วัดฉลอง ภูเก็ต ท่านเกิดที่ตำบลบ่อแสน อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา เมื่อปีกุน พุทธศักราช 2370 ในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) นามโยมบิดา-มารดาไม่ปรากฏในประวัติหลวงพ่อแช่ม ชาตะ พ.ศ.2370 มรณภาพ พ.ศ.2451พ่อแม่ส่งให้อยู่ ณ วัดฉลอง เป็นศิษย์ของพ่อท่านเฒ่าตั้งแต่เล็ก เมื่อมีอายุพอจะบวชได้ก็บวชเป็นสามเณร และ ต่อมาเมื่ออายุถึงที่จะบวชเป็นพระภิกษุก็บวชเป็นพระภิกษุจำพรรษาอยู่ ณ วัดฉลองนี้หลวงพ่อแช่มได้ศึกษาวิปัสนาธุระจากพ่อท่านเฒ่า จนเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญทางวิปัสนาธุระเป็นอย่างสูง ความมีชื่อเสียงของหลวงพ่อแช่มปรากฏชัด ในคราวที่หลวงพ่อแช่มเป็นหัวหน้าปราบอั้งยี่


กลุ่มคนอั้งยี่
กลุ่มคนอั้งยี่ คือ คนจีนที่มาทำเหมืองแร่ที่กระทู้ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า  นักเลงกระทู้
ในปีพุทธศักราช 2419 กรรมกรเหมืองแร่เป็นจำนวนหมื่น ในจังหวัดภูเก็ต และจังหวัดใกล้เคียง ได้ซ่องสุมผู้คนก่อตั้งเป็นคณะขึ้นเรียกว่า อั้งยี่ โดยเฉพาะพวกอั้งยี่ในจังหวัดภูเก็ต เข้าก่อเหตุวุ่นวาย ถึงขนาดจะเข้ายึดการปกครองของจังหวัด เป็นของพวกตน ทางราชการในสมัยนั้น ไม่อาจปราบให้สงบราบคาบได้ พวกอั้งยี่ถืออาวุธรุกไล่ ยิง ฟันชาวบ้านล้มตายลงเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านไม่อาจต่อสู้ป้องกันตนเองและทรัพย์สิน ที่รอดชีวิตก็หนีเข้าป่าไป เฉพาะในตำบลฉลอง ชาวบ้านได้หลบหนีเข้าป่า เข้าวัด ทิ้งบ้านเรือน ปล่อยให้พวกอั้งยี่เผาบ้านเรือน หมู่บ้านซึ่งพวกอั้งยี่เผา ได้ชื่อว่า บ้านไฟไหม้ (ซึ่งก็คือ หมู่ที่ 8 บ้านโคกทรายในปัจจุบัน) ชาวบ้านที่หลบหนีเข้ามาในวัดฉลอง เมื่อพวกอั้งยี่รุกไล่ใกล้วัดเข้ามา ต่างก็เข้าไปแจ้งให้หลวงพ่อแช่มทราบ และนิมนต์ให้หลวงพ่อแช่มหลบหนีออกจากวัดฉลองไปด้วย หลวงพ่อแช่มไม่ยอมหนี ท่านว่า  “ท่านอยู่ที่วัดนี้ตั้งแต่เด็กจนบวชเป็นพระ และเป็นเจ้าวัดอยู่ขณะนี้ จะให้หนีทิ้งวัดไปได้อย่างไร”
เมื่อหลวงพ่อแช่มไม่ยอมหนีทิ้งวัด ชาวบ้านต่างก็แจ้งหลวงพ่อแช่มว่า“เมื่อท่านไม่หนี พวกเขาก็ไม่หนี จะขอสู้มันละ พ่อท่านมีอะไรเป็นเครื่องคุ้มกันตัวขอให้ทำให้ด้วย”หลวงพ่อแช่มจึงทำผ้าประเจียดแจกโพกศีรษะคนละผืนเมื่อได้ของคุ้มกัน คนไทยชาวบ้านฉลองก็ออกไปชักชวนคนอื่นๆ ที่หลบหนีไปอยู่ตามป่า กลับมารวมพวกกันอยู่ในวัด หาอาวุธ ปืน มีด เตรียมต่อสู้กับพวกอั้งยี่


พวกอั้งยี่ เที่ยวรุกไล่ฆ่าฟันชาวบ้าน ไม่มีใครต่อสู้ก็ชะล่าใจ ประมาท รุกไล่ฆ่าชาวบ้านมาถึงวัดฉลอง ชาวบ้านซึ่งได้รับผ้าประเจียดจากหลวงพ่อแช่มโพกศีรษะไว้ ก็ออกต่อต้านพวกอั้งยี่ พวกอั้งยี่ไม่สามารถทำร้ายชาวบ้าน ก็ถูกชาวบ้านไล่ฆ่าฟันแตกหนีไป ครั้งนี้เป็นชัยชนะครั้งแรกของไทยชาวบ้านฉลอง ข่าวชนะศึกครั้งแรกของชาวบ้านฉลอง รู้ถึงชาวบ้านที่หลบหนีไปอยู่ที่อื่น ต่างพากลับมายังวัดฉลอง รับอาสาว่า ถ้าพวกอั้งยี่มารบอีกก็จะต่อสู้ ขอให้หลวงพ่อแช่มจัดเครื่องคุ้มครองตัวให้หลวงพ่อแช่มก็ทำผ้าประเจียดแจกจ่ายให้คนละผืน พร้อมกับแจ้งแก่ชาวบ้านว่า "ข้าเป็นพระสงฆ์จะรบราฆ่าฟันกับใครไม่ได้ พวกสูจะรบก็คิดอ่านกันเอาเอง ข้าจะทำเครื่องคุณพระให้ไว้สำหรับป้องกันตัวเท่านั้น"
ชาวบ้านเอาผ้าประเจียดซึ่งหลวงพ่อแช่มทำให้โพกศีรษะ เป็นเครื่องหมายบอกต่อต้านพวกอั้งยี่
พวกอั้งยี่ให้ฉายาคนไทยชาวบ้านฉลองว่า พวกหัวขาว ยกพวกมาโจมตีคนไทยชาวบ้านฉลองหลายครั้ง ชาวบ้านถือเอากำแพงพระอุโบสถเป็นแนวป้องกัน อั้งยี่ไม่สามารถตีฝ่าเข้ามาได้ ภายหลังจัดเป็นกองทัพเป็นจำนวนพัน ตั้งแม่ทัพ นายกอง มีธงรบ ม้าล่อ เป็นเครื่องประโคมขณะรบกัน ยกทัพเข้าล้อมรอบกำแพงพระอุโบสถ ยิงปืน พุ่งแหลน พุ่งอีโต้ เข้ามาที่กำแพง เป็นที่น่าอัศจรรย์ที่บรรดาชาวบ้านซึ่งได้เครื่องคุ้มกันตัวจากหลวงพ่อแช่มต่างก็แคล้วคลาดไม่ถูกอาวุธของพวกอั้งยี่เลยรบกันจนเที่ยง พวกอั้งยี่ยกธงขอพักรบ ถอยไปพักกันใต้ร่มไม้หุงหาอาหาร ต้มข้าวต้มกินกัน ใครมีฝิ่นก็เอาฝิ่นออกมาสูบ อิ่มหนำสำราญแล้วก็นอนพักผ่อน ชาวบ้านแอบดูอยู่ในกำแพงโบสถ์ เห็นได้โอกาสในขณะที่พวกอั้งยี่เผลอก็ออกไปโจมตีบ้าง พวกอั้งยี่ไม่ทันรู้ตัวก็ล้มตายและแตกพ่ายไปหัวหน้าอั้งยี่ประกาศให้สินบน ใครสามารถจับตัวหลวงพ่อแช่มวัดฉลองไปมอบตัว จะให้เงินถึง 5,000 เหรียญ เล่าลือกันทั่วไปในวงการอั้งยี่ว่า คนไทยชาวบ้านฉลอง ซึ่งได้รับผ้าประเจียดของหลวงพ่อแช่มโพกศีรษะ ล้วนแต่เป็นยักษ์มาร คงทนต่ออาวุธ ไม่สามารถทำร้ายได้ ยกทัพมาตีกี่ครั้งๆ ก็ถูกตีโต้กลับไป ในทุกครั้ง จนต้องเจรจาขอหย่าศึก ยอมแพ้แก่ชาวบ้านศิษย์หลวงพ่อแช่มโดยไม่มีเงื่อนไข
คณะกรรมการเมืองภูเก็ต ได้ทำรายงานกราบทูลไปยังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้คณะกรรมการเมืองนิมนต์หลวงพ่อแช่ม ให้เดินทางไปยังกรุงเทพมหานคร มีพระประสงค์ทรงปฏิสันถารกับหลวงพ่อแช่มด้วยพระองค์เอง
หลวงพ่อแช่มและคณะเดินทางถึงกรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานสมณศักดิ์หลวงพ่อแช่ม เป็น พระครูวิสุทธิวงศาจารย์ญานมุนี ให้มีตำแหน่งเป็นสังฆปาโมกข์เมืองภูเก็ต อันเป็นตำแหน่งสูงสุดซึ่งบรรพชิตจักพึงมีในสมัยนั้น
ในโอกาสเดียวกัน ทรงพระราชทานนาม วัดฉลอง เป็น วัดไชยาธาราราม

ผ้าประเจียด
ผ้าประเจียดคือผ้าโพกศีรษะที่หลวงพ่อแช่มทำไว้แจกจ่ายให้ชาวบ้านไว้  เป็นเครื่องหมายบอกต่อต้านพวกอั้งยี่และเพื่อคุ้มครอง ป้องกันตัวจากพวกอั้งยี่ ซึ่งพวกอั้งยี่ให้ฉายาคนไทยชาวบ้านฉลองว่า พวกหัวขาว
ผ้าประเจียด ของหลวงพ่อแช่มเป็นผ้ายันสีขาว ไว้สำหรับโพกศีรษะ ซึ่งในปัจจุบันน่าจะไม่มีไว้ดูแล้ว ซึ่งผ้าประเจียดน่าจะมีลักษณะคล้ายๆดังภาพ


                                                

วัดฉลองหรือ วัดไชยธาราราม
                เป็นสถานที่ที่สำคัญที่ชาวบ้านฉลองและทำศึกกับกลุ่มอั้งยี่  ตั้งอยู่ที่ หมู่ 6 ตำบลฉลอง ถนนเจ้าฟ้าอำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต




ข้อมูลทั่วไปของหมู่บ้านวัดใหม่
บ้านวัดใหม่ ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 7 ตำบลฉลอง อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต         


ซึ่งตำบลฉลองประกอบไปด้วยหมู่บ้านทั้งหมด 10 หมู่บ้าน ดังนี้
                หมู่ที่ 1 บ้านเขาน้อย                              หมู่ที่ 2 บ้านบนสวน
                หมู่ที่ 3 บ้านป่าไล่                                  หมู่ที่4 บ้านนาใหญ่
                หมู่ที่ 5 บ้านนากก                                  หมู่ที่ 6 บ้านฉลอง
                หมู่ที่ 7 บ้านวัดใหม่                                หมู่ที่8 บ้านโคกทราย
                หมู่ที่ 9 บ้านโคกโตนด                           หมู่ที่10 บ้านยอดเสน่ห์

ที่ตั้งของหมู่บ้านวัดใหม่
              ทิศเหนือ จด วัดฉลอง
              ทิศใต้ จด หมู่ที่ 8 ลำราง
              ทิศตะวันออก จด วัดใต้
              ทิศตะวันตก จด ควนเทกะรน

สภาพทั่วไปของหมู่บ้าน และการเดินทางเข้าสู่หมู่บ้าน
บ้านวัดใหม่ หมู่ที่ 7 ตำบลฉลอง เป็นพื้นที่ราบลุ่ม บางส่วนเคยเป็นเหมืองแร่เก่าที่หมด
สัมปทานแล้ว มีเนื้อที่ประมาณ 5,000 ไร่ ตั้งอยู่ห่างจากอำเภอเมืองภูเก็ต ประมาณ 10
กิโลเมตร

ครัวเรือนและประชากรของหมู่บ้าน (ข้อมูล จปฐ.)
              ♣จำนวนครัวเรือนมี 600 ครัวเรือน
              ♣จำนวนประชากรในหมู่บ้านมี 1,008 คน
                       • เพศชาย จำนวน 422 คน
                       • เพศหญิง จำนวน 586 คน

สภาพทางเศรษฐกิจ
บ้านวัดใหม่ หมู่ที่ 7 ตำบลฉลอง ประชากรส่วนใหญ่มีความอยู่ดี กินดี มีการเก็บออม
เงินและการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง มีรายได้เฉลี่ย 148,311.51 บาท/คน/ปี รายรับ จากบัญชีครัวเรือน 148,311.51 บาท/คน/ปี

อาชีพ
คนในหมู่บ้านประกอบอาชีพรับจ้าง 30 %
รับราชการ 30-40 %
ที่เหลือค้าขายและทำสวนยางพารา สวนผลไม้

สภาพสังคม
คนส่วนใหญ่อยู่แบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันมีความเอื้ออาทรกัน

ศาสนา
ชาวบ้านวัดใหม่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ

การปกครองของหมู่บ้าน
บ้านวัดใหม่ มีผู้ใหญ่บ้าน คือ นาง พงค์พิศชญา พงค์พัฒชญาธร

สิ่งดีๆ ประเภทวัฒนธรรม/ประเพณี
            • ประเพณีงานสวดกลางบ้าน จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่หมู่บ้านและบุคคลที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน ตลอดจนจะก่อให้เกิดความรักสามัคคีในหมู่คณะที่จะได้ร่วมกันจัดงานประเพณีอันดีงามของหมู่บ้าน
            • ประเพณีสารทไทย (เดือนสิบ) ตรงกับวันแรม 8 ค่ำ เดือน 10 และ วันแรม 15 ค่ำเดือน 10 เป็นประเพณีที่ชาวไทยมีความเชื่อว่า ยมบาลมีการปล่อยภูตผี และวิญญาณ ให้ออกมารับเอาส่วนบุญ จึงมีการนำของ คาว หวานต่าง ๆ มาทำบุญและให้ทานกันที่วัด สำหรับขนมที่ สำคัญในพิธี คือ ขนมลา ขนมเทียน ขนมท่อนใต้ ขนมต้ม ฯลฯ
            • ประเพณีถือศีลกินผัก เป็นการถือศีลชำระจิตใจ และงดเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์ทุกชนิด มีระยะเวลา 9 วัน เริ่มตั้งแต่ ขึ้น 1 ค่ำ - 9 ค่ำ เดือน 9 ของจีน ซึ่งอยู่ในช่วง เดือนกันยายน-ตุลาคม ของทุกปี

กลุ่มอาชีพ ได้แก่
            • ทำผ้าบาติกเพื่อจำหน่าย
            • กลุ่มสหกรณ์สวนยางพารา

ผลิตภัณฑ์ของชุมชน
       • การทำผ้าบาติกเพื่อจำหน่าย โดยลูกค้าส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวและพนักงานใน
โรงแรม
   • กลุ่มยางพาราประจำหมู่บ้าน รับซื้อยางแผ่น 14 วัน/ครั้ง วันพุธเว้นวันพุธ โดยตั้ง
กรรมการมาจากคนในหมู่บ้านและนอกหมู่บ้านจำนวน 10 คน โดยขึ้นกับสำนักงานและสหกรณ์อำเภอเมืองภูเก็ต
                                     
                                                               
                                                                                                                                       









ความคิดเห็น